Gifted IVF มุ่งมั่นในการเติมเต็มความสุขให้ชีวิตคู่ ด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทันสมัย

Gifted IVF เข้าใจดีว่าการเริ่มต้นชีวิตคู่คือการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นอันประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก แต่ด้วยวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ทำให้คู่สมรสหลายคู่ต่างประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก เราจึงพร้อมอยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้แก่ทุกคู่สมรสที่กำลังประสบภาวะดังกล่าว ด้วยการนำเทคโนโลยี IVF มาช่วยสานฝันให้ชีวิตคู่มีครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมการรักษาด้วยเทคโนโลยี IVF เป็นวิธีที่ทำให้เกิดโอกาสในการตั้งครรภ์สูง และจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด หากฝ่ายหญิงมีอายุน้อยกว่า 35 ปี เพราะมีโอกาสในการตั้งครรภ์อยู่ที่ 30%-40% ต่อรอบการรักษา แต่หากอายุมากขึ้นโอกาสในการมีบุตรจะลดลงตามลำดับ เนื่องจากการผลิตไข่ของฝ่ายหญิงจะมีความสมบูรณ์น้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น

 

ดูแลเอาใจใส่

เราตรวจสอบประวัติการรักษาของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อที่จะเข้าใจปัญหา และเสนอวิธีแก้ไขที่เหมาะสมให้กับคุณ

คัดสรรเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ

เราเลือกใช้เทคโนโลยี อันทันสมัย เพื่อทำให้เกิดโอกาสในการตั้งครรภ์สูง พร้อมให้ความรู้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่อง

มั่นใจด้วยอัตราความสำเร็จ

ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีอันทันสมัยทำให้ Gifted IVF Udonthani Clinic ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าด้วยอัตราความสำเร็จที่สูงถึง 72%

สร้างความเข้าใจให้แก่คู่สมรสได้รับทราบถึงวิธีและขั้นตอนการรักษาด้วย IVF

Gifted IVF ยินดีให้คำปรึกษาปัญหาภาวะผู้มีบุตรยากแก่ทุกคู่สมรส เพื่อให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ได้รับทราบถึงรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ พร้อมการตอบทุกข้อสงสัยเพื่อสร้างความเข้าใจถึงการรักษาด้วยวิธี IVF โดยทีมแพทย์ของเราจะมอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาให้คุณมากที่สุดเพื่อให้การปรึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คู่สมรสควรแจ้งประวัติการรักษาหรือข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพให้แก่ทีมแพทย์ของเรา เพื่อจะได้วินิจฉัยและหาแนวทางในการทำ IVF ได้อย่างถูกต้อง

ให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ตรวจสภาพร่างกายคู่สมรสทั้งฝ่ายหญิงและชาย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนของการรักษาด้วย IVF คู่สมรสทั้งฝ่ายหญิงและชายจำเป็นต้องได้รับการตรวจสภาพร่างกายอย่างละเอียด โดยในส่วนของฝ่ายหญิงจะได้รับการ อัลตราซาวด์มดลูกและรังไข่ การตรวจโพรงมดลูก การตรวจท่อนำไข่ การเจาะเลือดเพื่อตรวจฮอร์โมน และการคัดกรองภาวะติดเชื้อ ซึ่งการตรวจในแต่ละประเภท ทีมแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยจากประวัติการรักษาของฝ่ายหญิง สำหรับฝ่ายชายจะตรวจความแข็งแรงของสเปิร์ม ซึ่งควรงดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนรับการตรวจประมาณ 3-4 วันในระหว่างการเตรียมความพร้อม คู่สมรสควรทำใจให้สบาย ไม่เครียดหรือวิตกกังวล โดยเฉพาะฝ่ายหญิง หากร่างกายอยู่ในภาวะกดดันหรือเครียดอาจทำให้ผลการตรวจร่างกายคลาดเคลื่อน และอาจส่งผลกระทบต่อการวินิจฉัยถึงแนวทางการรักษาของทีมแพทย์

การฉีดฮอร์โมนบริเวณหน้าท้องของฝ่ายหญิงเป็นระยะเวลา 8-12 วัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รังไข่ผลิตไข่จำนวนมากกว่าปกติ เป็นการเพิ่มโอกาสในการเลือกไข่ที่สมบูรณ์ที่สุด โดยในขั้นตอนนี้ ทีมแพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์วัดขนาดไข่เป็นระยะ เพื่อป้องกันการตกไข่ก่อนเวลาและการเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไปหลังฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นไข่จนครบตามกำหนด และมีการอัลตราซาวด์ถึงขนาดไข่ว่าเหมาะสมในการนำมาใช้งาน ทีมแพทย์จะฉีดฮอร์โมนเข็มสุดท้ายเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก ประมาณ 34-38 ชั่วโมงก่อนการเก็บไข่

การเก็บไข่

ทีมแพทย์ดำเนินการเก็บไข่ในห้องผ่าตัด ด้วยการอัลตราซาวด์เพื่อค้นหาตำแหน่งของไข่ จากนั้นจึงนำเข็มขนาดยาวมาดูดไข่ผ่านทางช่องคลอด เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการเก็บไข่ ทีมแพทย์จะนำไข่ที่เก็บไปไว้ในน้ำยาเลี้ยงไข่ เพื่อรอการปฏิสนธิกับสเปิร์มของฝ่ายชายที่เก็บในวันเดียวกัน

การเก็บไข่จำเป็นต้องมีการวางยาชาหรือยาสลบเพื่อป้องกันการเจ็บปวด ฝ่ายหญิงจึงควรได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงเพื่อสังเกตอาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

เมื่อได้ไข่ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิง ทีมแพทย์จะนำสเปิร์มที่แข็งแรงของฝ่ายชายมาปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ โดยมีการติดตามผลภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่ง Gifted IVF นำการช่วยปฏิสนธิมาใช้ด้วยกัน 2 วิธีคือ การให้สเปิร์มที่แข็งแรงของฝ่ายชายเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิงในหลอดทดลอง (IVF) และการฉีดสเปิร์มเข้าสู่ไข่โดยตรง (ICSI) ซึ่งวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ทีมแพทย์ของเราพบว่าสเปิร์มของฝ่ายชายไม่แข็งแรงหรือมีความผิดปกติ หรือเมื่อใช้วิธี IVF แล้วไม่ประสบความสำเร็จ สำหรับขั้นตอนการเก็บสเปิร์ม หากฝ่ายชายไม่สะดวกในการเก็บสเปิร์มที่คลินิก สามารถเก็บมาจากบ้านได้แต่ควรแช่แข็งก่อนนำมามอบให้ทีมแพทย์ ทั้งนี้ก่อนการเก็บสเปิร์ม ฝ่ายชายควรงดการปล่อยน้ำเชื้อและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายผลิตสเปิร์มที่มีความแข็งแรง

การช่วยปฏิสนธิ
การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน

วิธีการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแบบเดิมนั้น ในทุกๆ วันนักวิทย์จะนำตัวอ่อนออกมาจากตู้ได้เพียงวันละ 1 ครั้ง เพื่อสังเกตุการเปลี่ยนแปลง เพราะหากนำออกมาบ่อยจะเป็นการรบกวนและอาจเกิดการผิดพลาดได้ ซึ่งหมายความว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวอ่อนในระหว่างวันเราจะไม่สามารถ รู้ได้เลย แต่ปัจจุบัน Gifted IVF Udonthani Clinic เลือกใช้เทคโนโลยี EmbryoScope Plus ตัวอ่อนจะถูกดูแลอยู่ภายในเครื่องนี้โดยเจ้าหน้าที่จะสามารถร่วมวิเคราะห์ และเห็นพัฒนาการของตัวอ่อนตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 5 และคัดตัวอ่อนที่มีการเจริญเติบโตที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดโอกาสสูงสุดในการตั้งครรภ์ นอกจากนี้เครื่องดังกล่าวยังมีระบบการถ่ายภาพแบบ Time-Lapse ซึ่งเป็นการบันทึกข้อมูลทุกๆ นาที ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นพัฒนาการของลูกตั้งแต่เริ่มเป็นตัวอ่อนอีกด้วย

ขณะเพาะเลี้ยงตัวอ่อน หากพบว่าตัวอ่อนทั้งในระยะ Cleavage หรือ Blastocyst มีเปลือกหนาจนอาจส่งผลต่อการฝังตัวในโพรงมดลูก ทีมแพทย์จะนำเทคโนโลยี Laser Assisted Hatching เข้ามาใช้เจาะเปลือกหรือตัดเปลือกให้บางลงเพื่อให้ตัวอ่อนออกมาฝังตัวยังโพรงมดลูกได้ง่ายขึ้น

การใช้ Laser Assisted Hatching ไม่ส่งผลกระทบหรือทำอันตรายต่อตัวอ่อนที่อยู่ในขั้นตอนการเพาะเลี้ยง วิธีการนี้ยังช่วยคัดกรองและวินิจฉัยโครโมโซมของตัวอ่อน ทำให้ทีมแพทย์สามารถคัดเลือกตัวอ่อนที่มีความแข็งแรงที่สุดเพื่อย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

การเจาะเปลือกตัวอ่อน
การย้ายตัวอ่อน

เมื่อได้ตัวอ่อนที่มีความแข็งแรง ทีมแพทย์จะนัดหมายให้ฝ่ายหญิงเตรียมความพร้อมในการฉีดตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการฝังตัวและนำไปสู่การตั้งครรภ์โดยสมบูรณ์ ซึ่งฝ่ายหญิงจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อปรับเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมแก่การฝังตัวอ่อน และป้องกันการแท้ง

ข้อควรปฏิบัติหลังการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก ฝ่ายหญิงควรพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย อย่าวิตกกังวลหรือเครียด ไม่ควรทำงานหนักหรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหากพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ปวดบริเวณท้องน้อย หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที ซึ่งฝ่ายชายควรดูแลและอยู่เคียงข้างคอยเป็นกำลังใจให้ฝ่ายหญิงตลอดเวลา

หลังการย้ายตัวอ่อนประมาณ 2 สัปดาห์ ทีมแพทย์จะนัดหมายฝ่ายหญิงมาตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยถึงโอกาสในการตั้งครรภ์ต่อไป

 

ข้อบ่งชี้หลักในการรักษาด้วยวิธี IVF

  •  คู่สมรสฝ่ายหญิงมีปัจจัยเกี่ยวกับปีกมดลูกหรือท่อนำไข่
  •  คู่สมรสฝ่ายหญิงมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
  •  คู่สมรสฝ่ายหญิงมีความผิดปกติของรังไข่
  •  คู่สมรสฝ่ายชายมีน้ำอสุจิจำนวนน้อย หรือไม่แข็งแรง
  •  คู่สมรสไม่พบสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
Share :